หน้าหลัก | ทำเนียบ | ประวัติผู้เขียน | ประวัติวงโยธวาทิตโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว | เว็บไซท์วงโยธวาทิตโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว   
 
username : 
password : 
 

    บทความน่าอ่าน
    นานาทัศนะ...เกี่ยวกับวิชาดนตรี

        มนุษย์กับดนตรีมีความสัมพันธ์กันมานานแล้วไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม สร้างความสนุกสนาน หรือการศึกษาด้านดนตรี แม้กระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทย...............เช่น เพลงกล่อมลูก มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ลูกอันเป็นสุดที่รักได้นอนหลับอย่างสบาย อีกทั้งบทร้องแฝงไปด้วยคติธรรม เป็นการใช้ดนตรีให้เด็กได้เพริดเพลินทั้งสอนเรื่องคุณธรรมไปพร้อมๆกัน.......ในสมัยก่อนการศึกษาดนตรีของไทยจะเป็นการต่อเพลงโดยใช้วิธีต่อจากครูผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การศึกษาลูกศิษย์จะต้องไปอยู่บ้านครูทำงานทุกอย่างเพื่อรับใช้ครู เพื่อจะได้รับการถ่ายทอด ระยะต่อมาดนตรีก็อยู่ในความอุปถัมภ์ของเจ้านายชั้นสูงรับใช้งานต่างๆไม่ว่าจะเป็นงานหลวงหรืองานราษฎร์........และในที่สุดดนตรีก็เข้ามาสู่ระบบการเรียนการสอนในโรงเรียน

        ดนตรีฝรั่งได้เริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยฝึกอยู่ในกองทัพ ต่อมาในรัชกาลที่ 6 มีการก่อตั้งวงเครื่องสายฝรั่ง  (Orchestra) สังกัดกรมมหรสพ (ปัจจุบันคือ กรมศิลปากร) โดยมีพระเจนดุริยางค์เป็นผู้ดูแล เมื่อประมาณปีพ.ศ. 2477 โรงเรียนดนตรีเอกชนได้เกิดขึ้นเป็นโรงเรียนแรกมีชื่อว่า “วิทยาสากลดนตรีสถาน” สอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยมีพระเจนดุริยางค์เป็นผู้จัดการและครูผู้สอน (สัมภาษณ์ นาวาอากาศโท อารี สุขเกตุ) ต่อมาในปีพ.ศ. 2500 มีการอบรมครูดนตรีทั่วประเทศและเปิดการเรียนการสอนดนตรีเป็นวิชาเลือก
 การเรียนการสอนดนตรีมีการบรรจุในหลักสูตรอย่างจริงจังในปีพ.ศ. 2522 วิชาศิลปะกับดนตรี – นาฏศิลป์ สอนในระดับมัธยมต้น สำหรับหลักสูตรพ.ศ. 2544 ซึ่งใช้ในปัจจุบันจัดวิชาดนตรีไปอยู่รวมกับวิชาศิลปะ เรียกว่ากลุ่มสาระวิชา ศิลปะ โดยรวมวิชาวาดเขียน (ทัศนศิลป์) กับ วิชาดนตรี – นาฏศิลป์ อยู่ด้วยกัน และมีการเรียนการสอนทุกระดับ โดยแบ่งออกเป็นช่วงชั้น ตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย

        ดนตรีในปัจจุบันนี้จะอยู่ในระบบโรงเรียนโดยมีหลักสูตร มีมาตรฐานการเรียนรู้     มีผลการเรียนรู้  เป็นตัวบังคับที่จะต้องจัดการเรียนการสอนให้บรรลุเป้าหมายของหลักสูตร นักเรียนจะต้องเรียนวิชาดนตรี ตั้งแต่ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา….ทั้งนี้การเรียนการสอนวิชาดนตรีมีปัจจัยหลายอย่างที่จะให้นักเรียนได้พัฒนาทางดนตรีทัดเทียมกับบ้านเมืองอื่น


       การเรียนวิชาดนตรีจะได้ผลอย่างจริงจังควรมีปัจจัย 3 ปัจจัย ดังนี้
       1.หลักสูตร
การเรียนการสอนวิชาดนตรีควรจะต้องแบ่งวิชาออกเป็นวิชาศิลปะกับดนตรีไม่มีการรวมกันเพราะเนื้อหาของวิชาดนตรีมีจำนวนมากทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ.......อีกทั้งในวิชาดนตรีควรจะต้องบังคับให้นักเรียนเลือกเครื่องดนตรีที่ถนัด 1 ชิ้น ทั้งนี้เพื่อให้รู้ซึ้งถึงความสุนทรีย์ของดนตรีและเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต 
       2.ผู้บริหารโรงเรียน การมีวิสัยทัศน์ของผู้บริหารมีความจำเป็นกับวิชาดนตรีเป็นอย่างมากเพราะผู้บริหารจะต้องมีโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาให้นักเรียนได้มีทักษะทางด้านดนตรี ไม่ว่าจะให้วงดนตรีที่มีอยู่ในโรงเรียนบรรเลงในงานต่างๆ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้นักเรียน  ครูผู้สอน เกิดการพัฒนา จัดหาเครื่องดนตรี จัดหาครูสอนพิเศษเฉพาะทางมาเสริม เพราะครูดนตรีส่วนใหญ่มีคนเดียวในโรงเรียนจะทำทุกอย่างไม่ได้ หน้าที่สำคัญที่สุด จัดหางบประมาณมาพัฒนาวิชาดนตรีไม่ว่าจะเป็นวงดนตรีไทย วงดนตรีสากล วงโปงลาง หรือวงต่างๆ ที่นักเรียนสนใจ
       3.ครูผู้สอน ความสำคัญในการพัฒนาวิชาดนตรีในบ้านเมืองเราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ครูผู้สอนมีความสำคัญมากที่สุด ผู้บริหารโรงเรียน ครูในโรงเรียน หรือสังคม มักคาดหวังไว้สูงว่าครูผู้สอนดนตรีจะต้องตั้งวงโยธวาทิต วงสตริง วงโปงลาง วงเครื่องสาย วงดนตรีลูกทุ่ง ได้ แต่ครูที่จบวิชาดนตรีไม่ใช่จะถนัดสอนได้ทุกวง ครูดนตรีมักจะมีความถนัดในด้านใดด้านหนึ่ง การคุมวงดนตรีซ้อมในช่วงหลังเลิกเรียนเป็นภาระหนักอีกทั้งต้องมีความเสียสละอย่างมากเพราะเป็นงานนอกเหนือจากภาระงานสอนซึ่งเป็นงานประจำที่หนักอยู่แล้ว
 มีข้อเสนอแนะสำหรับนักศึกษาที่จะจบไปเป็นครูดนตรี หรือ ครูที่สอนวิชาดนตรีอยู่แล้ว ควรหาความรู้เกี่ยวกับดนตรีทุกอย่างเท่าที่ทำได้ นั่นหมายความว่า มีการอบรมที่ไหน ต้องไปหาความรู้ มีการประกวดดนตรีที่ไหน ต้องไปชม มีรายการดนตรีทางทีวี ต้องดู เพื่อให้รู้ความเจริญก้าวหน้า เทคนิควิธีการเพื่อนำมาพัฒนาการเรียนการสอนดนตรีให้มีคุณภาพมากขึ้นและทำให้ครูดนตรีเป็นครูนักวิชาการเหมือนกับวิชาอื่นๆ ............. ครูดนตรีจะต้องรักในการสอนวิชาดนตรี........รักในการสอนลูกศิษย์

        ครูดนตรีไม่สามารถจะตั้งวงดนตรีในโรงเรียนได้ทั้งหมด แต่ควรจะแนะนำลูกศิษย์ได้ หรือ ค้นหาวิชาการมาสอนในโรงเรียนได้..........จัดทำโครงการต่างๆ........ค้นหาแหล่งเรียนรู้และวิทยากรที่มีความชำนาญได้

        วิชาดนตรีมีการพัฒนาอยู่ในระดับหนึ่ง ถ้ามีหลักสูตรที่ดี ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ ครูดนตรีที่พร้อมจะพัฒนาวิชาทางด้านดนตรีและมีความเฉลียวฉลาด มีความมุ่งมั่นต้องการพัฒนาทักษะดนตรีให้เยาชนของชาติ อนาคตในภายภาคหน้า วิชาดนตรีในบ้านเมืองของเราจะมีการพัฒนาทัดเทียมกับบ้านเมืองของคนอื่นอย่างแน่นอน

02:02 PM - June, 09 2009 | อ่าน 1406 คน กลับขึ้นข้างบน
 
Power by aondcon | Copyright © ถวัลย์ชัย สวนมณฑา All Rights Reserved.